วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อารยธรรมเมืองสุรินทร์

ตามรอยอารยธรรมช้างสุรินทร์

สุรินทร์จังหวัดใหญ่แห่งลุ่มน้ำมูล เป็นจังหวัดที่คนทั่วไปทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ต่างรู้จักกันดีว่าเป็นเมืองช้างกิตติศัพท์ชื่อเสียงความยิ่งใหญ่ ความน่ารัก ความแสนรู้ของช้างจังหวัดสุรินทร์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน ช้างสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับทางจังหวัด และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวจะพบเห็นช้างตามร้านอาหาร ช้างเดินอยู่ข้างถนนปะปนกับประชาชนได้อย่างปกติธรรมดาเหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างช้างกับคนมาช้านาน ชาวสุรินทร์ถือว่าช้างเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ กล่าวได้ว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”




เมื่อปี พ.ศ.2498 มีการรวมช้างทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ขึ้นเป็นครั้งแรก มีช้างรวมกันประมาณ 200 เชือก ที่อำเภอท่าตูม โดยมีนายอำเภอท่าตูมคือ นายวินัย สุวรรณกาศ เป็นผู้จัดขึ้น ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจมาก นายอำเภอจึงดำริจัดงานช้างขึ้นครั้งแรกในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 เป็นการฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ โดยจัดที่บริเวณสนามบินเก่าอำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์) การจัดงานครั้งนั้นมีรายการแสดง การเดินขบวนแห่ช้าง การคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็วและยังมีการแสดงรื่นเริงอื่นๆ ประกอบอีกด้วย เช่น การแข่งเรือ แข่งขันกีฬาอำเภอ งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะได้การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท.) จึงเสนอกระทรวงมหาดไทย ให้สนับสนุนจัดการแสดงเกี่ยวกับช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นงานประเพณีและงานประจำปี โดยวางแผนประชาสัมพันธ์ทั้งในและนอกประเทศให้ดี งานนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี



ดังนั้น อ.ส.ท. จึงได้ร่วมมือกับจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กำหนดงานเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 เป็นปีที่ 2 จัดที่อำเภอท่าตูมเช่นเดิม งานช้างปีที่ 2 ประสบผลสำเร็จด้วยดี การแสดงของช้างในปีต่อๆ มาได้ปรับปรุงรูปแบบให้สวยงาม น่าตื่นเต้นมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในรายการแสดงของช้าง ประกอบด้วยรายการต่างๆ ได้แก่ขบวนช้างพาเหรด ช้างปฏิบัติตามคำสั่ง ช้างแสนรู้ ช้างวิ่งเร็ว ช้างวิ่งข้ามคน ช้างเตะฟุตบอล และขบวนช้างศึก และต่อมาก็มีการแสดงช้างต่อเนื่องมาทุกปีทำให้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้จักช้างสุรินทร์เป็นอย่างดีว่าเป็นจังหวัดที่มีช้างแสนรู้มากที่สุด ต่อมาทางคณะกรรมการเห็นว่าควรย้ายสถานที่แสดงจากอำเภอท่าตูมมายังสถานที่แสดงจากอำเภอท่าตูม มายังสถานที่ใกล้ไปมาสะดวกเพื่อความเหมาะสมจึงได้มาจัดการแสดงช้างที่สนามกีฬาจังหวัด ตั้งแต่ พ.ศ.2505 สมัยนายคำรณ สังขกร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นสืบมาจนถึงปัจจุบัน



เมืองสุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นเมืองช้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนเลี้ยงช้างอยู่ทุกแห่ง ในสุรินทร์จะมีชาวกูยเพียงไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้นที่เป็น “กูยอะเจียง” หรือคนที่อยู่กับช้าง หมู่บ้านตากลาง หมู่บ้านตากลาง ตำบลกะโพ อำเภอท่าตูม นับเป็นหมู่บ้านชาวกูยเก่าแก่ที่เลี้ยงช้างกันมาหลายร้อยปี ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บรรพบุรษของเขาเลือกพื้นที่ที่ลำน้ำซีมาสบกับลำน้ำมูลซึ่งเป็นป่าดงดิบริมน้ำกว้างใหญ่ มีอาหารเพียงพอศึกที่ปลดระวางจากสงคราม เพื่อนำมาส่งเป็นส่วย แทนการเกณฑ์ทหารมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แทบทุกปีในสมัยก่อน ปะชิหมอช้างใหญ่ คุมคนและช้างเป็นขบวนใหญ่ เพื่อไปคล้องช้างป่าในแผ่นดินเขมร แต่เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ การคล้องช้างก็เลิกไป แต่ก็ยังมีการเลี้ยงช้างสืบต่อกันมา เพราะมีลูกช้างสืบต่อกันมา เพราะมีลูกช้างเกิดใหม่ทุกปี การเลี้ยงช้างของชาวกูย ไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อการทำงานหนักหรือใช้ลากไม้แบบทางเหนือ พวกเขาเลี้ยงช้างเหมือนเพื่อน ลูกชายชาวกูยบางคนก็เติบโตมาพร้อมกับช้างจึงเป็นเรื่องราวที่แยกจากกันไม่ออก แม้จะไม่มีการออกไปจับช้างอีกแล้ว แต่ช้างบ้านหลายรุ่น ก็ตกลูกช้างมาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อช้างโตอายุสักปีสองปีก็ต้องมีการฝึก เพื่อรับคำสั่งต่าง ๆ ทั้งการส่งควาญขึ้นหลัง เดินซ้าย ขวา หน้า หลัง สมัยก่อนการฝึกช้างก็ทำกันเองทั่วไป แต่ปัจจุบันมีสนามฝึกช้างใกล้กับอาคารศูนย์คชศึกษาซึ่งจะทำการฝึกช้างวัยรุ่น ช้างนั้นมีความจำดีสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างแล้วแต่ควาญจะฝึกให้ทำอะไรแต่ก็ต้องฝึกอยู่เสมอๆ



ภายใต้ศูนย์มีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง เช่น ทำจากเชือกประกำ เชือกคล้องช้างที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ โดยเฉพาะวันเสาร์จะมีการจัดแสดงการฝึกช้างให้ชมกันเป็นประจำ แต่เพียงวันละรอบเท่านั้นเริ่มประมาณ 9 โมงเช้าถึง 11โมง ในหมู่บ้านมีบ้านทอผ้าไหม ซึ่งมีลวดลายสวยงามไม่แพ้ที่อื่น ส่วนใหญ่สาวชาวกูยจะทอผ้ากันหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ตอนบ่ายอาจนั่งช้างเที่ยวไปตามป่าละเมาะริมลำน้ำมูลเพื่อรอเวลาให้ถึงช่วงเย็นที่ควาญจะพาช้างไปอาบน้ำที่วังทะลุรื่นรมณย์กับบรรยากาศยามเย็น ชื่นชมแสงสีสุดท้ายของวัน

1 ความคิดเห็น: